พี่สังวาล วากะมะนนท์ เจ้าของสมดุลฟาร์ม 116 หมู่ 2 ต.วังกะทะ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประชาสัมพันธ์ชมรมอะโวคาโด ปากช่อง เขาใหญ่ บอกถึงที่มาของอะโวคาโดพื้นเมือง 3 ต้น ที่ปลูกทิ้งไว้ แต่ทำเงินได้เกินคาด
ด้วย 8–9 ปีที่แล้ว ปลูกอะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองทิ้งไว้ 3 ต้น หวังเป็นร่มเงา จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญคงไม่ผิด เพราะไม่ได้หวังอะไรกับเรื่องของเม็ดเงิน แต่เมื่อมันออกลูกเยอะขึ้น จึงลองเปิดเพจขายดู กลับได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ออเดอร์สั่งเข้ามามากมาย จนแทบแพ็กของส่งไม่ทัน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีออเดอร์ล้นไม่ขาด น่าจะมาจากการที่อะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองให้ผลก่อนสายพันธุ์อื่น โดยออกผลในช่วง พ.ค.-มิ.ย. ส่วนสายพันธุ์การค้าอื่นที่ราคาแพงกว่า อย่างพันธุ์บัคคาเนียจะออกช่วง ก.ย.-ต.ค. และพันธุ์ปีเตอร์สัน ออกช่วง พ.ย.-ธ.ค.
ทำให้ช่วงต้นปีกึ่งกลางปี ไม่มีอะโวคาโดในตลาด เพราะอะโวคาโดก็ไม่ได้ต่างจากไม้ผลอื่นนัก ให้ผลปีละครั้งและมีระยะเวลาสุกจำกัด ประกอบกับกระแสคนรักสุขภาพมากขึ้น ด้วยคุณค่าทางอาหารของอะโวคาโด ที่มีมากมาย จึงได้รับความสนใจจากตลาดค่อนข้างมาก
“เรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การตลาดไปในตัว เมื่อของในตลาดน้อย ก็ย่อมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นเงาตามตัว ฉะนั้นเราจึงบริหารจัดการสวนกว่า 20 ไร่ โดยปลูกสายพันธุ์ให้หลากหลาย มีทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์การค้า เพื่อให้มีของขายทั้งต้นปี กลางปี และปลายปี ขณะเดียวกันต้นพันธุ์พื้นเมืองที่พร้อมเก็บอยู่แล้วทั้ง 3 ต้น ปีนี้ก็เก็บขายเป็นปีที่สองมีรายได้รวมแล้วกว่า 23,000 บาท”
พี่สังวาล บอกในตอนท้ายถึงข้อได้เปรียบของอะโวคาโดปากช่อง ด้วยอยู่ใกล้กรุงเทพฯจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ อยู่ใกล้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้เจริญเติบโตดี และมีเอกลักษณ์ของตัวเอง รสชาติดีมีติดหวานเล็กน้อย เนื้อไม่ติดเสี้ยน ทำให้ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดแถบนี้ ได้รวมตัวกันเป็น “ชมรมอะโวคาโด ปากช่อง เขาใหญ่”
ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งกับกลุ่มเองและกลุ่มภูมิภาคต่างๆ เป็นตัวแทนประสานกับภาครัฐ และองค์กรเอกชนต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตทั้งทางด้านผลิตผล และผลิตภัณฑ์ตรงความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต และผลิตภายใต้มาตรฐานจีเอพี
ขอบคุณภาพ-ข้อมูล
ปรึกษาปัญหาเกษตรโทร.02-104-9999
ทักแชท https://m.me/kasetnewstv
ไลน์ @Kasetnews หรือกด
กด Like และ ติดตามเพจ
เพื่อรับข่าวสารด้านเกษตรก่อนใครได้ที่นี่
#ช่องเกษตรนิวส์ ดูได้ที่กล่อง PSI หมายเลข 72