เตือนเกษตรกรปลูกมะเขือเทศให้ระวังโรคใบไหม้ระบาด

เตือนเกษตรกรปลูกมะเขือเทศให้ระวังโรคใบไหม้ระบาด มักพบอาการของโรคที่ใบล่างก่อน โดยด้านบนใบพบแผลฉ่ำน้ำสีเขียวหม่นคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ ตรงกลางแผลแห้งเป็นสีน้ำตาล บริเวณขอบแผลฉ่ำน้ำมีสีดำ เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบบริเวณตรงกัน จะพบส่วนของเชื้อราสาเหตุโรคสีขาว แผลจะลุกลามออกไปทำให้ใบไหม้ แห้งเป็นสีน้ำตาลในที่สุด หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ มีความชื้นสูง หรือในสภาพที่มีหมอกลงจัด โรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้จะพบอาการโรคที่ส่วนของลำต้น กิ่ง และผล หากเกิดแผลที่ลำต้นหรือโคนกิ่งจะทำให้ส่วนยอดแสดงอาการเหี่ยวเฉา เนื่องจากพืชไม่สามารถลำเลียงน้ำและอาหารได้ ต่อมากิ่งหรือต้นจะแห้งตาย หากโรคเข้าทำลายที่ผลจะทำให้ผลเน่า

เตือนเกษตรกรปลูกมะเขือเทศให้ระวังโรคใบไหม้ระบาด
เตือนเกษตรกรปลูกมะเขือเทศให้ระวังโรคใบไหม้ระบาด

วิธีป้องกันกำจัด

๑. หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน

๒. ไถพรวนดินและใส่ปูนขาว ตากดินไว้นานกว่า ๒ สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดิน

๓. ปรับระยะปลูกไม่ให้แน่นเกินไป ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบยกค้าง ควรตัดแต่งใบล่างให้โปร่ง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค

๔. ไม่ให้น้ำมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น

๕. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐ – ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ ๕๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๒๐ – ๓๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + แมนโคแซบ ๘% + ๖๔% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๐ – ๖๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม ๖๔% + ๔% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๓๐ – ๔๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือไอโพรวาลิคาร์บ + โพรพิเนบ ๕.๕% + ๖๑.๓% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๔๐ – ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก ๕-๗ วัน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค

๖. ต้นที่เป็นโรครุนแรง ควรถอนนำไปทำลายนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค ๗. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

เตือนเกษตรกรปลูกมะเขือเทศให้ระวังโรคใบไหม้ระบาด
ปลูกมะเขือเทศให้ระวังโรคใบไหม้ระบาด

ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร / เกษตรทันข่าว.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *