ราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งนี้เนื่องจากหลายปัจจัยรวมกันได้แก่ การขึ้นราคาของแก๊สธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตปุ๋ยเคมี สงครามในยูเครน ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยที่สำคัญ เช่น รัสเซีย และจีน
จากราคาปุ๋ยเคมีจึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากการปลูกพืชสำคัญเช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น อาศัยการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพืช และต้นทุนของปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคิดเป็น 25-35% ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด
นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตปุ๋ยเคมีนำเข้าราคาแพงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ซ้ำเติมให้อาหารมีราคาแพง และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารแต่ในทางกลับกันกับเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
การใช้เทคโนโลยีจากตะวันตกนอกจากราคาแพงแล้วอาจไม่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยที่เป็นเขตร้อนเท่ากับการใช้วิธีตามธรรมชาติ การหันมาพึ่งเกษตรอินทรีย์จึงเหมาะสมและเป็นโอกาสของการทำเกษตรในขณะนี้และควรลดการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ให้ส่งเสริมการใช้ในประเทศให้มากที่สุด
นายอาทิตย์ ศุขเกษม กล่าวว่า ในวันที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง เป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไทยมีทรัพยากรเหลือใช้จากการเกษตรมากกว่า 700 ล้านตัน ไม่ว่าจะเป็นฟางจากนาข้าวหรือมูลสัตว์ หากนำมาใช้เพียง 10% ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล แม้ว่าดินในไทยจะมีสารอินทรีย์ค่อนข้างต่ำ
แต่กรมพัฒนาที่ดินมี โครงการหมอดินอาสา หรือ ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.14 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสามารถเข้าไปขอรับด้วยตัวเอง และถัดจากนี้เกษตรกรควรเน้นที่การผลิตเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ดินในประเทศไทยขาดการอนุรักษ์ดูแลมาต่อเนื่องยาวนาน การทำสวนที่ผิดวิธี เช่น ปล่อยให้มีวัชพืชที่แย่งธาตุอาหาร ไถพรวนกำจัดหญ้าหรือใช้สารเคมี ล้วนเป็นปัจจัยให้ดินแย่ลง การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหาร เพิ่มอินทรีย์วัตถุ ตรึงไนโตรเจน ทำให้ทรัพยากรในดินอยู่ได้ยาวนาน โดยเฉพาะถั่วสายพันธุ์พันธุ์มูคูน่าที่ให้ผลผลิตซากพืชสูงกว่าถั่วชนิดอื่นถึง 3 เท่า
นางสาวปรานี ไชยชาญ จากสวนทุเรียจันหอม เสริมถึงเทคนิคการทำสวนทุเรียนอินทรีย์ว่าทำได้ไม่ยากโดยใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนจากขี้วัวและน้ำหมักปลาซึ่งมีสารอาหารสูงมาก โดยสามารถทำให้สวนทุเรียนติดลูกได้ภายใน 3 ปี ด้านนายจตุพร เทียรมา เน้นย้ำว่า
“ในสถานการณ์ปุ๋ยแพง สิ่งที่เกษตรกรควรเรียนรู้อันดับแรกคือ ระบบนิเวศของดินในพื้นที่ตนเอง 4 ปัจจัย คือ ความชื้น อากาศ และอาหารที่สมบูรณ์ร่วมกับอุณหภูมิที่เหมาะสม หากมีดินที่ดีจะเป็นต้นทุนที่ดีในการเพาะปลูก”
ขอบคุณข้อมูล
https://www.prachachat.net/economy/news-961253